Archive for กุมภาพันธ์, 2007

ว่าด้วยเรื่องการสื่อสารบนเน็ต

กุมภาพันธ์ 19, 2007


มีอยู่วิชาหนึ่งที่ผมเพิ่งไปเรียนมา เขาี้พูดถึงเรื่องการสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เนต โดยอาจารย์ฝรั่งชาวออสเตรเลียได้ยกตัวอย่างของสาวไทยคนหนึ่งที่กำลังเตรียมทำรายงานหรือวิทยานิพนธ์อะไรสักอย่าง โดยอาจารย์เขาบอกว่าหนึ่งในทีมงานที่เธอร่วมทำงานด้วย ได้ส่งอีเมล์ติชมงานของเธอไปผ่านไปยังทุกคนในกลุ่ม หลังจากนั้นเธอก็ไม่เคยแสดงความคิดเห็นต่องานกลุ่มเลยเพราะรู้สึกหน้าแตกต่อการวิจารณ์ความเห็นของเธอผ่านฟอร์เวิร์ดเมล์ในครั้งนั้น ด้วยความที่มักจะไม่มีการนัดประชุมให้เห็นหน้าเห็นเสียงกันเป็นๆ ความเข้าใจผิดจึงไม่ได้รับการคลี่คลายจนกระทั่งสมาชิกในทีมของเธอเริ่มสังเกตเห็นว่าเธอไม่ทุ่มเทลงไปในงานเท่าที่ควร มีการร้องเรียนไปยังอาจารย์ขอให้เข้ามาช่วย ความก็ออกมาคืออีกฝ่ายหนึ่งที่วิจารณ์ความคิดของเธอคิดว่าข้อความในจดหมายไม่ได้เป็นการด่าหรือทำให้เธอหน้าแตกอย่างใด

อาจารย์ได้วิเคราะห์ออกมาว่า ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นนานจนกลายเป็นปัญหา เป็นเพราะว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้เห็นหน้าไม่ได้ยินเสียงกันบ่อยครั้ง คือแทบไม่ได้เจอตัวเป็นๆเลย การสื่อสารส่วนใหญ่จะทำกันผ่านทางอีเมล์เป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดการตีความที่หลากหลายได้ ตรงข้ามกับการสื่อสารที่เจอกันตัวต่อตัว เราได้เห็นสีหน้าในขณะนั้น รู้สึกถึงความสูงต่ำของน้ำเสียง ซึงนำมาประมวลผลต่อว่าเขากำลังต้องการสื่อความหมายอะไรให้กับเรา แม้กระทั่งไม่มีการพูดคุยเกิดขึ้นลักษณะท่าทางและสีหน้าก็สื่อความหมายได้มากแล้ว

กับชีวิตในโลกบล็อกนี้ ผมก็เคยเจอปัญหาในทำนองเดียวกัน คือแค่เราเสนอความคิดอะไรนิดหน่อยที่อาจจะขัดแย้งบ้าง ก็มักจะถูกตีความเสมอว่าหัวดื้อ ไม่ก็เป็นการดูถูกหักหน้าอะไรทำนองนี้ ทั้งที่ตอนที่ผมพิมพ์นี้ ผมแทบไม่รู้สึกถึงความโกรธความต้องการเอาชนะคนอื่นแต่อย่างใด เพียงต้องการแสดงความเห็นเท่านั้น ผมเองก็เคยแสดงความเห็นที่ผิดพลาดไปหลายที่เมียนกัน หลายที่ก็เป็นบล็อกดังซะด้วย แต่ยังไงถ้าความจริงแล้วผมผิดพลาด ผมก็ยอมรับผิดและพร้อมที่จะแก้ต่อไป กระนั้นความคิดเห็นที่แย้งกันบางครั้งใช่ว่าจะมีถูกผิด ถึงจุดนั้นทุกฝ่ายต่างต้องยอมรับในจุดยืนที่แตกต่าง

กับในบล็อกที่ผมมีอยู่นี้ ก็เคยมีบ้างที่เขาวิจารณ์มาให้แก้ตรงนี้ๆแล้วผมก็ยอมรับว่ามันผิดพลาดกันจิง อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรกนะครับ จะวิจารณ์จะติอะไรก็ยินดีอย่างยิ่งนะครับ เพราะผมเองก็อยากรู้ด้วยว่าควรจะปรับปรุงตรงไหนบ้างและหลายครั้งเองคนที่มาวิจารณ์ก็ได้ความรู้ได้ประสบการณ์(ดีบ้างไม่ดีบ้าง แหะๆล้อเล่นครับ)กลับไปเอง

อย่างที่นิตยสารTimesได้ยกให้พวกเราทุกคนเป็นบุคคลแห่งปี2006 เพราะเนื่องจากพวกเรารับหน้าที่เป็นสื่อด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ว่าจะด้านแฟชั่น,ข่าว,การเมืองและแนวคิดในรูปแบบใหม่ๆ สังคมบล็อกในปัจจุบันเป็นสังคมที่จะช่วยเพาะปลูกวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ที่ดีได้ ถึงแม้จะถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความเที่ยงตรงและเป็นกลางในข้อมูล แต่สื่อสิ่งพิมพ์เองก็ถูกตั้งคำถามกลับถึงเรื่องความเป็นกลางอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าในประเทศต่างประเทศ ก็เกิดเรื่องทำนองเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเข้าข้างรัฐบาลหรือเข้าข้างกับกลุ่มต้านรัฐบาลมากจนเลอะเทอะ ซึ่งวิธีการครอบงำมีตั้งแต่การใช้กำลัง,การตัดงบโฆษณาหรือวิธีการอื่นที่ผมเองก็ไม่รู้

แต่กว่าสังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมแห่งความรู้ได้ ยังมีสิ่งสำคัญที่่เป็นปราการป้องกันการพัฒนา วัฒนธรรมไทยที่กลัวการหน้าแตกกลัวความผิดพลาด เป็นกำแพงที่สำคัญอีกอันหนึ่งในสังคมไทยนอกจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์ หลายครั้งด้วยกันความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง ตรงนี้อาจารย์คนเดิมได้พูดถึงงานวิจัยอันหนึ่งที่ลูกศิษย์กำลังทำอยู่ ได้ศึกษาถึงเรื่องความสัมพันธ์ของจำนวนครั้งของเครื่องบินตกเทียบกับคะแนนpower distance(คะแนนความยอมรับในเรื่องของอำนาจ)ในประเทศที่สายการการบินนั้นตั้ง พบว่ายิ่งประเทศไหนมีคะแนนสูง(ยอมต่ออำนาจ)ก็จะพบว่าจำนวนครั้งที่เครื่องบินตกเพิ่มสูงขึ้น อธิบายได้ว่าช่างตรวจสภาพเครื่องบินถ้าเกิดพบข้อบกพร่องบนตัวเครื่องมักจะไม่กล้าแจ้งต่อพนักงานระดับสูงขึ้นไป อย่างไรก็ตามดัชนีตัวนี้ของไทยเราอยู่ค่อนข้างกลางๆซึ่งอาจารย์อีกท่านหนึ่งก็บอกว่ายังมีข้อสงสัยถึงความเที่ยงตรงของคะแนนนี้อยู่ (สนใจดูเรื่องpower distanceและดัชนีอื่นดูได้ที่ www.geert-hofstede.com)

วัฒนธรรมไทยที่กล่าวมานี้ ลึกๆแล้วอาจเป็นคำตอบด้วยซ้ำไปว่าทำไมประเทศของเราจึงย้ำอยู่กับที่เป็นสิริเวลารวมร้อยปีได้กระมัง ถึงเวลาแล้วที่สังคมบล็อก… จะร่วมทลายกำแพงนี้

powered by performancing firefox

หิมะตกสะสมแล้ว

กุมภาพันธ์ 8, 2007

หลังจากที่สองสามวันก่อน หิมะที่เมืองLille(ลิลล์)ตกลงมาหลังจากที่ฝนตกมาแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะเริ่มสะสมให้เห็นตามถนนตามบ้านสักที วันนี้ตื่นสายขึ้นมาเจอกับหิมะ ตื่นเต้นมากเพราะผมไม่เคยเห็นแบบหิมะค่อยๆตกลงมาจนสะสมทั้งเมือง ที่เคยเห็นจะเป็นแบบตกลงมาเสร็จหมดแล้ว ตื่นเต้นมากๆรีบลงไปบอกเพื่อน กินขนมปังปาแก็ตเสร็จเลยรีบถ่ายรูปมาให้ดูกันครับ

สองรูปข่างล่างนี้เป็นวิวจากห้องผม


(more…)

พื้นเพไม่เหมือนกัน

กุมภาพันธ์ 3, 2007

http://www.flickr.com/photo_zoom.gne?id=41350696&size=m

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี้ ผมสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าผมเริ่มรู้สึกอ่านและจับความรู้สึกของคนที่เมืองไทยได้ยากขึ้น ถึงแม้ว่าผมจะยังคงอ่านข่าวอยู่บ้าง แต่การขาดการปฏิสัมพันธ์กับสื่ออื่นๆไม่ว่าจะวิทยุหรือโทรทัศน์ซึงคุณภาพอาจจะด้อยบ้างดีบ้าง รวมถึงไม่ได้พูดคุยกันกับคนไทยคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัวกับคนที่มาด้วย ก็ทำให้ผมเขียนอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยได้ยากขึ้น

ตอนนี้ผมยังคงอยู่ในช่วงปรับตัวและคงอาจจะเป็นยังงี้ไปสักพัก เพราะเป็นคนที่ปรับตัวได้ช้าเป็นปกติอยู่แล้วแถมยังต้องมาปรับตัวนิดหน่อยกับคนไทยที่มาด้วยอีก

สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปอ่านโพสต์แนะนำหนังสือ “​อ่าน​(​ไม่)​เอา​เรื่อง​” ​ของอาจารย์ชูศักดิ์​ ​ภัทรกุลวณิชย์​ ในบล็อกFringer.org เป็นหนังสือแนววิจารณ์วรรณกรรมที่ผนวกด้านสังคม,เศรษฐกิจและจิตวิทยามาใช้วิเคราะห์ และทางคุณคนชายขอบได้ยกบทหนึ่ง ซึงเป็นบทที่วิจารณ์สองบทความด้วยกัน คือ”เหมือนอย่าง​ไม่​เคย”และ”มี​แต่พวกมัน” ของ​วิทยากร​ ​เชียงกูล​ ​และ​ ​วัน​ ​ณ​ ​จันทร์ธาร ตามลำดับ

อ่านแล้วก็ทำให้ชุกคิดขึ้นมาว่าความต่างนี้มีอยู่จริง ความต่างระหว่างคนกรุงกับชนบท ถึงแม้ว่าในสังคมไทยเรานี้จะยังไม่เห็นความขัดแย้งถึงขั้นหนองเลือดระหว่างคนสองกลุ่มนี้ก็ตาม แต่จากเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วก็คงเป็นตัวอย่างที่ชัดว่าความแตกต่างนี้ไม่ได้แค่เป็นความไม่เท่ากันด้านรายได้เท่านั้น แต่เป็นความต่างในด้านความคิด

คนชนบทมีชีวิตอยู่กินฝากท้องไว้กับทุ่งนาและหลายส่วนก็ยังต้องพึ่งพิงลมฟ้าอากาศอยู่ มีชีวิตอยู่อย่างใกล้ชิดเอื้อเฟื้อกันถึงแม้ในบางครั้งจะอดอยาก มีความรู้และความชำนาญในท้องนาหรืออาชีพด้านพื้นบ้านอื่นๆ มีความสนิทสนมและรู้จักกันทั้งหมู่บ้าน ในขณะที่ชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองมีชีวิตทำงานพึ่งพาเงินเดือน ทำงานแข่งขันกันเรียนแข่งกันให้ได้ประสิทธิภาพมากสุด มีความรู้การศึกษาตามแบบตะวันตก แปลกแยกและไม่รู้จักเพื่อนบ้านมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้นเรื่อยๆ มองเข้ามาที่ตนเอง และในหลายครั้งมองตนเองอย่างเลิดเล่อสูงส่งกว่าชนชั้นล่างที่มาทำงานอยู่ในตัวเมือง

“เรา” ชนชั้นกลางในตัวเมือง กับพวกเรากันเองก็มีความต่างมากขึ้นในตัวเอง เรา่ส่วนหนึ่งมีความคิดตามแบบอย่างเมืองจะให้เป็น ชอบความเป็นเมืองและชอบแสงสี เราอีกส่วนหนึ่งยังคงความคิดตามแบบชนบทอยู่อย่างพอเพียงและพอใจ เราส่วนหนึ่งเป็นเป็นเพศใหม่ๆถูกจัดอยู่ในกลุ่มแปลกแยกทั้งที่เคยมีมานานแล้ว เราส่วนหนึ่งเรียนในมหาลัยฯดังในขณะที่ส่วนหนึ่งอยู่ในมหาลัยฯเปิด และยังมีเราอีกหลากหลาย ภายในพวกเรากันเองก็ยังคงมีการกดดัน,มีการรุกรับแย่งชิงกัน,ดูถูก ไม่ก็พยายามเปลี่ยนให้อีกฝ่ายเป็นไปตามที่ตนคิด สังคมไทยโดยปกติแล้วไม่เคยมีความขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย เราโจมตีอีกฝ่ายอย่างอ้อมๆไม่เปิดเผย ผ่านการใช้คำพูดผ่านการกระทำที่ไม่แสดงออกโดยตรง

ฉะนั้นความเป็นปัจเจกในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นร่ำรวยได้สร้างความต่างให้เกิดในหมู่พวกเขากันเอง มองออกมาในภาพรวมความเป็นปัจเจกอิงอาศัยกับตัวเมือง ในขณะที่ความเป็นชนบทอยู่คู่กับการเป็นปัจเจกอย่างน้อยที่สุด

แต่ด้วยความที่สื่อโทรทัศน์แทรกซึมทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ผ่านละครนิยายน้ำเน่า ไฮโซไม่ทำงานตบตีแย่งผู้ชายทุกวันไม่ก็ตามจีบผู้หญิงตลอดทั้งเรื่อง เลยทำให้ชาวบ้านในชนบทเริ่มแทรกซึมแนวคิดแบบคนเมืองแบบบริโภคนิยม จับจ่ายใช้สอยแบบคนเมือง ความจริงมีงานเขียนทางวิชาการบางชิ้นด้วยซ้ำไปว่าชนบทของไทยเป็นแบบกึ่งพอเพียงมาตั้งแต่สมัย 100 ปีที่แล้ว

การติดหนี้ติดสินของขาวบ้านจึงมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายตามปกติ การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยสูงเกินรายได้ การที่ลูกหลานทึ้งพ่อแม่ไว้ก็กับบ้านโดยไม่ส่งเสียเลี้ยงดูอีกเลย แต่ทั้งนี้หลายส่วนมีสาเหตุพื้นฐานคือการบริโภคตามแบบคนในตัวเมือง ทางออกหลายๆอย่างของตัวชนบท ก็คือต้องเข้ามาทำงานในตัวเมือง ไม่ก็ค่านิยมส่งเสริมให้ลูกสาวมีผัวเป็นฝรั่ง ทั้งหมดนี้อาจไม่มีผิดถูก ขึ้นอยู่กับตัวคนว่าเขาชอบพอใจแค่ไหน คนรอบข้างต้องเดือดร้อนหรือไม่

ที่สุดแล้วความเป็นปัจเจกกำลังแผ่ขยายไปทั่วทุกแห่ง ทุกๆคนมีความต่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะทางนิสัย,แนวคิด,อุดมการณ์,และรายได้ ความแตกต่างได้สร้างความขัดแย้งขึ้นมาหลายครั้ง และหลายครั้งด้วยกันที่ยากแก่การแก้ การลดความเป็น”ตน”เท่านั้นจึงจะสามารถแก้ได้ หรือความเข้าใจรู้จักรักและเสียสละก็สามารถไขโซ่ตรวนปัญหาได้ แต่กระนั้นหลายครั้งอีกแลที่ความต่างได้สร้างผนังปูนกั้นทุกอย่างตลอดกาล

powered by performancing firefox